ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายในมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนเน้นวิชาทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เพื่อสร้างวิศวกรอาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน มีความสามารถเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนา โดยสามารถทำงานกับภาคอุตสาหกรรมในหลากหลายสาขาได้ หน่วยงานนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยได้รับอนุมัติ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2535 และถือว่าเป็นวันก่อตั้งภาควิชาฯ สืบมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 20 ปี
ภาควิชาได้จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร โดยที่วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเทคโนโลยีต้นน้ำที่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีแทบทุกชนิดอีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแขนงวิชาที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของโลกในยุคข้อมูลข่าวสารอีกด้วย ซึ่งรวมไปถึง ระบบสื่อสาร ระบบภาพ ระบบเสียง เพื่อความบันเทิง ด้านการแพทย์ ด้านการทหาร และไม่เว้นแต่ระบบขนส่ง การก่อสร้าง ไปถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ ส่วนวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารเป็นแขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ เช่น ระบบไมโครเวฟ ระบบดาวเทียม ประกอบด้วยวิชา สนามแม่เหล็ก หลักการสื่อสาร ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
หลักสูตรมีปรัชญาผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีให้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านทักษะ ความรู้ และทฤษฎีต่างๆ โดยสามารถที่จะประกอบอาชีพวิศวกรทางวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารหรือวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น โดยผู้สำเร็จการศึกษาสามารถทำการค้นคว้าวิจัยเฉพาะด้านทางวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากนั้นบัณฑิตจะต้องมีคุณธรรม มีความเป็นผู้นำ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดีเยี่ยม
แนวทางการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มีความหลากหลายมาก ทั้งในอุตสาหกรรมการสื่อสารคมนาคม การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการส่งข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนต้องการวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เพื่อทำงานทั้งด้านการออกแบบ การวิเคราะห์ รวมถึงการพัฒนา และการให้คำปรึกษา นอกจากนี้วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากจากองค์กรที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ บัณฑิตที่จบไปสามารถทำงานได้ในหลายลักษณะงาน เป็นผู้ออกแบบ ควบคุม วิเคราะห์ พัฒนาและบำรุงรักษาระบบ ตั้งแต่ระดับ ชิป แผงวงจร อุปกรณ์ ไปถึงระบบเครือข่ายการสื่อสารคมนาคม รวมถึงการเป็นเจ้าของกิจการด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และมีบัณฑิตจำนวนมากที่ทำในบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งความต้องการของตลาดแรงงาน ทางด้านวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมเป็นที่ต้องการอย่างสูง ในหลากหลายอุตสาหกรรม ปัญหาการว่างงานสำหรับวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมมีน้อยมากในปัจจุบัน
หลักสูตรที่ทางภาควิชาฯได้ทำการเปิดสอนจนถึงปัจจุบันมีลำดับดังนี้
ปีการศึกษา 2535
เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตแก่นักศึกษาที่จบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย สายคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ปีการศึกษา 2538
เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตแก่นักศึกษาที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาโทรคมนาคม เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี (วศ.บ.) ตามโครงการผลิตบัณฑิตร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (โครงการพิเศษ)
เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) วิศวกรรมไฟฟ้าวิชาเอกสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมโดยเป็นโครงการร่วมระหว่างภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด
ปีการศึกษา 2544
เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท – นานาชาติ) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและสารสนเทศโดยเป็นโครง การร่วมระหว่างภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด
ปีการศึกษา 2549
เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและสารสนเทศ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพโดยมีการสอนแบบระบบทางไกลใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการสอน ปีการศึกษา 2553 เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ แก่นักศึกษาที่จบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย สายคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ปีการศึกษา 2553
เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและสารสนเทศ (พิเศษ-เสาร์/อาทิตย์) เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเปิดสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ปีการศึกษา 2555 เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและสารสนเทศ เพื่อผลิตบุคลากรและนักวิจัยที่มีคุณภาพ